ตรวจสุขภาพอะไรบ้าง ที่ควรตรวจเป็นประจำ?
หลายคนคงได้รับคำแนะนำอยู่บ่อยๆ ว่า “ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ” แต่พอได้ยินแบบนี้ก็อาจเกิดความสงสัยว่า การตรวจสุขภาพเป็นประจำมีประโยชน์อย่างไรและต้องตรวจอะไรบ้าง ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับรายการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ควรตรวจเป็นประจำในทุกๆ ปี ให้ทราบกัน
การตรวจสุขภาพประจำปี คือ การตรวจอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ เพื่อหาความเสี่ยง และความผิดปกติที่อาจจะนำไปสู่โรคร้ายในอนาคตได้ เช่น ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจหาระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด ตรวจระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ตรวจการทำงานของไต ตรวจการทำงานของตับ เป็นต้นซึ่งทุกคนมีสิทธิ์เป็นโรคร้ายแรงกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะบางโรคจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อป่วยเป็นระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้วนั่นเอง
ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี
- สภาวะสิ่งแวดล้อม ในตอนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีสภาพอากาศไม่เหมือนกับแต่ก่อนเนื่องจากเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 มาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว ด้วยตัวเมืองใหญ่ที่มีผู้คนพลุกพล่านอย่างเช่น กรุงเทพฯ ยิ่งสังเกตเห็นได้ว่าทุกคนมีความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงไม่ใช่เพียงคนไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อบุคคลเชื้อชาติอื่น ๆ ด้วย ไม่เพียงแต่ฝุ่น PM 2.5 เท่านั้น หากจะกล่าวให้ถูกต้องถึงจะไม่มีฝุ่นละอองเหมือนทุกวันนี้ เราก็ต้องเผชิญกับควันจากยานพาหนะตามเมืองใหญ่อยู่ดี การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยสืบเสาะหาความผิดปกติในร่างกายได้อย่างละเอียด และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
- โรคระบาดเกิดใหม่ ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเราได้เห็นโรคระบาดกำเนิดใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ อาจจะไม่ตลอด แต่ก็มีขึ้นมาอย่างไม่ขาดสายอย่างล่าสุดที่เราได้เห็นคือ “โควิด-19 (Covid-19)” ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศจีน นอกจากนี้อาการจากโรคระบาดหลายโรคอาจไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ดังนั้นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่งคือการตรวจสุขภาพประจำปีนั่นเอง ในช่วงที่ไวรัสหรือโรคร้ายแพร่ระบาดการตรวจสุขภาพอย่างตรงจุดจะสามารถพบเจอสิ่งผิดปกติในร่างกายได้ก่อนที่เชื้อโรคนั้นจะลุกลามจนยากเกินจะรักษา
- ไม่เป็นไรไม่ใช่ปลอดภัย หลายต่อหลายครั้งที่เรามักคิดว่าร่างกายของเราแข็งแรงดี ไม่มีอาการไอ ไม่ปวดหัว ไม่มีไข้ ไม่ปวดเมื่อยตามตัว เท่ากับว่าเราแข็งแรงดี นั่นไม่ใช่ความจริง จริงอยู่ที่สำหรับบางคนอาจแข็งแรงจริง ๆ แต่เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเชื้อโรคหลากหลายสายพันธุ์อยู่รอบตัวเราแทบทุกที่ นั่นหมายความว่าใน 1 วัน เป็นเรื่องที่ยากมากหากเราจะหลีกเลี่ยงเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ 100 % ไม่เพียงแต่เท่านั้น โรคร้ายหลายโรคมักแสดงอาการเมื่อมีการแพร่กระจายในร่างกายเข้าขั้นรุนแรงแล้ว เช่น โรคมะเร็งตามอวัยวะต่าง ๆ ที่มักปรากฏอาการเมื่อเข้าสู่ช่วงแพร่เชื้อมะเร็งจนอวัยวะเกิดความเสียหายไปแล้ว หรือจะเป็นการติดเชื้อ HIV ที่มีอาการให้สังเกตได้น้อยมาก และเชื้อ HIV เองก็สามารถหลบซ่อนอยู่ในร่างกายเราได้หลายปีก่อนจะเข้าสู่ภาวะของโรคเอดส์ในที่สุด ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงสำคัญมากสำหรับคนที่รักสุขภาพและต้องการตรวจหาโรคร้ายที่เราไม่เห็นด้วยตาเปล่า
- เรียนรู้เพื่อป้องกัน การตรวจสุขภาพประจำปีไม่ใช่เพียงแต่เป็นการตรวจหาโรคร้ายที่หลบซ่อนอยู่ในร่างกายของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางการเรียนรู้ร่างกายของตัวเราเอง หากถามว่าเรารู้จักร่างกายของเราเองไปเพื่ออะไรหากไม่เป็นโรค คำตอบคือการที่เราได้รู้ความสมบูรณ์ของร่างกายของเราจะทำให้เห็นจุดที่อาจจะบกพร่องได้ในอนาคต หรือจุดที่เราพบว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหากไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้บางคนอาจไม่รู้ว่าตนเองมีโรคที่ถูกส่งต่อผ่านพันธุกรรมมาหรือเปล่า ดังนั้นการรู้จักร่างกายของตัวเราเองจากการตรวจสุขภาพประจำปีถือเป็นการวางแผนสุขภาพในอนาคตด้วย หากพบเจอความเสี่ยงแน่นอนว่าเราสามารถรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการป้องกันและพัฒนาความแข็งแรงของร่างกายต่อไปได้
ตรวจสุขภาพแต่ละช่วงอายุ แตกต่างกันอย่างไร?
- สุภาพสตรี เมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือเคยมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกและตรวจหาเชื้อ HPV และเมื่ออายุถึง 40 ปีขึ้นไปต้องเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- สุภาพบุรุษ เมื่อมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากปีละ 1 ครั้งนอกจากนี้ทั้งสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีหากมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป สามารถทำอัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อตรวจดูความผิดปกติของตับ ไต ถุงน้ำดี รังไข่ และมดลูก เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ EST เพื่อหาโรคอันตราย เช่น หัวใจขาดเลือด หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
การตรวจร่างกายสำหรับผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)?
การตรวจสุขภาพประจำปีไม่ได้สำคัญกับแค่คนวัยทำงานเท่านั้น แต่สำคัญกับคนทุกช่วงวัยโดยเฉพาะผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีการตรวจสุขภาพเพิ่มเติมบางรายการ ได้แก่
- การตรวจดวงตา : บุคคลอายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 2-4 ปี แต่สำหรับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจทุก 1-2 ปี
- ตรวจอุจจาระ : ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจอุจจาระ เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ปีละ 1 ครั้ง
- การประเมินภาวะสุขภาพ : โดยจะประเมินจากภาวะโภชนาการ ความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน การทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน หากอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับการประเมินสมรรถภาพการทำงานของสมองเพิ่มเติม
- ตรวจระดับไขมันในเลือดทุก 5 ปี
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และตรวจปัสสาวะทุกปี
- ตรวจระดับครีอะตินีน ในเลือดทุกปี
- หากอายุ 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดทุกปี
- ตรวจเต้านม : ผู้หญิงวัย 60-69 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกปี และสำหรับผู้สูงวัยเพศหญิงอายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก : เพศหญิงอายุ 60-64 ปี ควรได้รับการตรวจ ทุก ๆ 3 ปี ส่วนหญิงสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสม