ติดยา หรือ รักษาไม่หาย…

27 ก.ค. 2563 | เขียนโดย นพ.ปริทัศน์ วาทิกทินกร จิตแพทย์ผู้ชำนาญการ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

ความกังวลส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับยาทางจิตเวช คือ เมื่อรับประทานไปแล้วจะมีผลเสีย เช่น เกิดอาการข้างเคียงหรือไม่ หรือกลัวว่าจะ “ติดยา” เมื่อแพทย์สั่งยาให้รับประทานต่อเนื่องเกินกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยหลายรายพยายามที่จะหยุดการใช้ยาทันทีที่รู้สึกว่าอาการต่างๆ ดีขึ้น เนื่องจาก มีความรู้สึกว่าต้องการดำเนินชีวิตอยู่โดยไม่ต้องพึ่งยา โดยพยายามหาทางออกอื่นๆ เช่น การออกกำลังกาย, เล่นกีฬา, นั่งสมาธิ, กิจกรรมนันทนาการอื่นๆ หรือ เข้าหาศาสนา รวมถึงการอยู่กับคนที่รัก และเข้าใจ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาทางจิตเวชก็ยังมีความจำเป็นในผู้ป่วยที่มีอาการ เหล่านี้ คือ อาการกลัว, วิตกจริต ตื่นเต้นง่าย, นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง, อารมณ์แปรปรวน (ซึมเศร้า หงุดหงิด หรือ ครื้นเครงมากกว่าปกติ) ไปจนถึงอาการผิดปกติทางความคิด เช่น หวาดระแวง, การรับรู้ผิดปกติ เช่น ประสาทหลอน, ความจำเสื่อม, พฤติกรรมผิดปกติ เช่น ย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงมากภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือ เรื้อรังเกินกว่า 1-3 เดือน ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วยยาทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง  หรือ รับไว้ในโรงพยาบาลในกรณีที่มีภาวะอันตรายต่อตนเอง หรือผู้อื่น



ความกังวลส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับยาทางจิตเวช คือ เมื่อรับประทานไปแล้วจะมีผลเสีย เช่น เกิดอาการข้างเคียงหรือไม่ หรือกลัวว่าจะ “ติดยา” เมื่อแพทย์สั่งยาให้รับประทานต่อเนื่องเกินกว่า 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยหลายรายพยายามที่จะหยุดการใช้ยาทันทีที่รู้สึกว่าอาการต่างๆ ดีขึ้น เนื่องจาก มีความรู้สึกว่าต้องการดำเนินชีวิตอยู่โดยไม่ต้องพึ่งยา โดยพยายามหาทางออกอื่นๆ เช่น การออกกำลังกาย, เล่นกีฬา, นั่งสมาธิ, กิจกรรมนันทนาการอื่นๆ หรือ เข้าหาศาสนา รวมถึงการอยู่กับคนที่รัก และเข้าใจ ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาทางจิตเวชก็ยังมีความจำเป็นในผู้ป่วยที่มีอาการ เหล่านี้ คือ อาการกลัว, วิตกจริต ตื่นเต้นง่าย, นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง, อารมณ์แปรปรวน (ซึมเศร้า หงุดหงิด หรือ ครื้นเครงมากกว่าปกติ) ไปจนถึงอาการผิดปกติทางความคิด เช่น หวาดระแวง, การรับรู้ผิดปกติ เช่น ประสาทหลอน, ความจำเสื่อม, พฤติกรรมผิดปกติ เช่น ย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงมากภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือ เรื้อรังเกินกว่า 1-3 เดือน ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาด้วยยาทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง  หรือ รับไว้ในโรงพยาบาลในกรณีที่มีภาวะอันตรายต่อตนเอง หรือผู้อื่น

 

สำหรับยาทางจิตเวชกลุ่มที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ได้แก่

1. ยากลุ่มเบนโซไดอาเซปีน (Benzodiazepine)

ซึ่งมีฤทธิ์ลดความวิตกกังวล, คลายกล้ามเนื้อ, ป้องกันอาการชักและเป็นยานอนหลับ ยากลุ่มนี้การใช้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และคำแนะนำของเภสัชกร ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกินกว่า 1 เดือน โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์สั้นหมดฤทธิ์เร็ว เพราะหากใช้ไปนานๆ ก็จะเกิดอาการ “ติดยา (drug dependence)” ทั้งในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป หรือ ความหมายจริงๆ ในทางการแพทย์ซึ่งหมายถึง

  • มีการ”ดื้อยา”  คือ ต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ จึงจะออกฤทธิ์ได้เหมือนแต่ก่อนซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอาการข้างเคียงและการตกค้างในร่างกายเพิ่มมากขึ้น
  • เมื่อหยุดยาอย่างทันที เช่น ลืมกินยาหรือตั้งใจจะหยุดจะเกิดอาการ ”ถอนยา” เช่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หงุดหงิดกระสับกระส่าย
  • อาการทางด้านจิตใจ และพฤติกรรม ได้แก่ การหมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับการใช้ยา มีการสะสมกักตุนยา หรือ “แสวงหายา” มาด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฏหมาย

 

ส่วนยาที่ออกฤทธิ์ยาว ก็จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายเป็นเวลานานก่อนที่จะถูกกำจัดออกไปทางตับจึงต้องระมัดระวังการใช้ในผู้สูงอายุ หรือคนที่เป็นโรคตับ ส่วนคนที่เป็นโรคทางสมอง เช่น สมองเสื่อม อาจจะมีอาการสับสนมากขึ้น หรือลืมง่าย จนถึงขนาดมีอาการประสาทหลอน กระวนกระวาย แทนที่จะสงบลง จึงควรระมัดระวัง และไม่ใช้ร่วมกับยาอื่นๆ ที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น แอลกฮออส์ (สุรา) ส่วนผู้ที่มีโรคปอดก็ควรหลีกเลี่ยงหากไม่จำเป็น เพราะยาเหล่านี้ไปกดศูนย์ควบคุมการหายใจ

 

2. ยากลุ่มอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงเพื่อรักษาอาการทางจิต

เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า(antidepressant) ยาต้านโรคจิต (antipsychotic) ยากันชัก (anticonvulsant) ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ที่เฉพาะเจาะจงในสมองส่วนต่างๆ ซึ่งมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไปตามชนิดของสารสื่อประสาท (neurotransmilter) ที่เกี่ยวข้อง ยาประเภทนี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าจะเห็นประสิทธิผลในการรักษาอาการ (บางชนิดอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์ – 1 เดือน) เพื่อให้ระดับยาคงที่อยู่ในร่างกายถึงแม้ว่าอาการทางจิตจะสงบไปแล้วก็ตามและเมื่อผู้ป่วยมีความเคยชิน หรือ ทนอาการข้างเคียงได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง (ประมาณ 3-6 เดือน เป็นอย่างน้อย) เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักไม่เข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ จึงมักจะหยุดทันทีเมื่อรู้สึกดีขึ้น หรือ หากลืมรับประทานยาเพียง 1-2 วัน ก็อาจมีอาการปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หรือ อ่อนเพลีย ได้เป็นผลของการใช้ยาไม่ต่อเนื่อง (discontinuation symptoms) แต่จะไม่เหมือนกับภาวะที่เกิดจากการถอนยาจากการติดยาในกลุ่มแรก เพราะผู้ป่วยจะไม่มีทางกังวลที่จะแสวงหายากลุ่มนี้มาใช้อยู่ตลอดเวลา และไม่มีอาการแสดงของการดื้อยาดังกล่าว วิธีแก้ไขคือ รับประทานยาทันทีที่นึกได้ และหากต้องการจะหยุดใช้ยากลุ่มนี้ควรปรับลดลงทีละน้อย ภายในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบางครั้งจำเป็นจะต้องรับประทานยาต่อไปแต่ในปริมาณน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมอาการทางจิตได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาด้วยยา และเพื่อความมั่นใจของผู้ป่วยจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ยาที่กล่าวมาแล้ว ผู้ป่วยควรทราบว่าตนเองกำลังรับประทานยากลุ่มใดเพื่อรักษาอาการอะไร หากมีข้อสงสัยใดๆ ในการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรของเราซึ่งพร้อมจะให้คำแนะนำกับท่านได้ตลอดเวลา

 

พบแพทย์เฉพาะทาง แผนกจิตเวช และ นิติเวช

ที่ โรงพยาบาลสินแพทย์ สาขาใกล้บ้านคุณ 

(คลิก link เพื่อนัดพับแพทย์เฉพาะทาง)

โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา

โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

SHARE