ซีสต์ในเต้านมหรือถุงน้ำในเต้านม สามารถพบได้ในผู้หญิงทุกคน มักพบบ่อยในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและเนื้อเยื่อเต้านมเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น
ซีสต์ในเต้านมเกิดจากอะไร ?
สาเหตุที่แท้จริงของซีสต์ในเต้านมยังไม่ทราบชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนโดยเฉพาะเอสโตรเจนที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของต่อมผลิตน้ำนม กระตุ้นให้เกิดถุงน้ำในเต้านมขึ้น
อาการของซีสต์ในเต้านมเป็นอย่างไร ?
ซีสต์ในเต้านมที่มีขนาดเล็กมักยังไม่แสดงอาการใดๆ จนซีสต์เริ่มมีขนาดใหญ่จะสามารถคลำพบได้ ลักษณะเป็นก้อนกลมหรือก้อนรี ผิวเรียบ เคลื่อนย้ายได้ อาจรู้สึกเจ็บหรือคัดเต้านมตรงบริเวณที่มีซีสต์ โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน อาจพบที่เต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ซีสต์อาจโต ๆ ยุบ ๆ ตามรอบประจำเดือน
การวินิจฉัยซีสต์ในเต้านมทำอย่างไร ?
นอกจากการตรวจร่างกายด้วยการตรวจคลำเต้านมเบื้องต้นแล้ว แพทย์จะใช้การตรวจวิธีอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อช่วยการวินิจฉัย ดังนี้
- การอัลตราซาวด์เต้านม สามารถบอกได้ในเบื้องต้นว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ และลักษณะก้อนมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่
- การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจเอ็กซเรย์ที่สามารถเห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อเต้านม ถุงน้ำ ไขมัน หินปูน ก้อนเนื้อ และบอกแนวโน้มโอกาสเป็นมะเร็งได้
- การเจาะดูดของเหลวหรือการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ในกรณีที่ผลตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตร้าซาวด์สงสัยว่ามีโอกาสเป็นมะเร็ง แพทย์จะเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง
ซีสต์ในเต้านมรักษาอย่างไร ?
ซีสต์ธรรมดาขนาดเล็ก ไม่มีอาการเจ็บปวด ไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆ แต่ต้องคอยติดตามดูขนาดของซีสต์ทุก 6-12 เดือน ซีสต์ที่มีอาการหรือมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- การใช้เข็มเจาะดูดของเหลวในซีสต์ออกทำให้ซีสต์ยุบลง หลังเจาะซีสต์มีโอกาสกลับโตขึ้นมาใหม่ได้
- การผ่าตัดเอาซีสต์ออกทั้งหมด ใช้รักษาซีสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่มีอาการค่อนข้างมาก หรือซีสต์ที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เช่น ซีสต์ที่มีพังผืดหรือมีก้อนอยู่ภายใน
ซีสต์ในเต้านม มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ ?
ซีสต์ในเต้านม ถ้าเป็นซีสต์ธรรมดาโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่กลายเป็นมะเร็ง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ซีสต์ที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ต้น การยืนยันการวินิจฉัยต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ดังนั้นจึงควรรีบปรึกษาแพทย์หากไม่แน่ใจว่าก้อนที่คลำพบในเต้านมนั้นเป็นซีสต์หรือมะเร็ง
ศูนย์เต้านม แผนกศัลยกรรม
#โรงพยาบาลสินแพทย์รามอินทรา
#เบื้องหลังทุกการรักษาคือความใส่ใจ