คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็น ‘ทาสแมว’ แต่…แพ้ขนแมว

11 พ.ย. 2565 | เขียนโดย โรงพยาบาลสินแพทย์ ศรีนครินทร์

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถทำให้ผู้เลี้ยงมีสุขภาพจิตดีขึ้น เพราะแมวเป็นสัตว์ขี้เล่น ช่วยบรรเทาความเครียดความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ แต่ก็มีผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการแพ้ขนแมว โดยข้อมูลสถิติจากสภากาชาดพบว่า คนไทยมีอาการแพ้ขนแมวถึง 10 – 15% ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง ที่จะต้องยอมรับว่าแมวที่เลี้ยงนั้นกำลังก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ หลายคนจึงยังเลือกที่จะอยู่กับสัตว์เลี้ยงที่รักภายในบ้าน แทนการหลีกเลี่ยงหรือการย้ายสัตว์เลี้ยงออกห่างจากตัว นอกจากนี้เมื่ออยู่ในบ้านก็ยากที่จะระบุสาเหตุของการแพ้ได้ เพราะภายในบ้านมีสารก่อภูมิแพ้อื่นๆ อีกมากมาย เช่น ไรฝุ่น ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้คล้ายกัน

สาเหตุของการแพ้ขนแมว

การแพ้ขนแมวมีที่มาจากสารก่อภูมิแพ้ที่มาจากน้ำลาย ต่อมไขมัน ขนแมว และผิวหนังของแมว สารก่อภูมิแพ้อาจติดมากับขนแมวขณะที่แมวเลียขนตัวเอง แล้วขนก็อาจจะลอยขึ้นไปในอากาศ ซึ่งเมื่อเราสูดดมสารดังกล่าวเข้าไปก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะอนุภาคของสารก่อภูมิแพ้ในสัตว์เลี้ยงนั้นสามารถติดไปกับเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์และที่นอน ซึ่งนั่นก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ไม่ได้เลี้ยงแมวก็อาจจะมีอาการแพ้ขนแมวได้เช่นกัน

อาการแพ้ขนแมว

อาการทั่วไปของการแพ้แมว ได้แก่ อาการคันจมูก คันตา จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันคอ ในบางรายอาจมีผื่นที่ใบหน้า คอ หรือ หน้าอกส่วนบน

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหืด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแมว เพราะมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงขึ้น ในกรณีที่สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในขนแมวหลุดเข้าไปในหลอดลม สารก่อภูมิแพ้จะไปกระตุ้นแอนติบอดี้บางชนิดบนผิวของเซลล์เม็ดเลือดขาวบางสายพันธุ์ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ไอ และหายใจเสียงดัง วี้ดๆ ซึ่งเป็นอาการกำเริบของโรคหืดเฉียบพลัน และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคหอบหืดเรื้อรังอีกด้วย

การตรวจวินิจฉัยอาการแพ้ขนแมว

มี 2 วิธี คือ 1. การทดสอบทางเลือด สามารถหารสารก่อภูมิแพ้หลายชนิดพร้อมกันโดยไม่ต้องหยุดยาก่อนตรวจ และ 2. การทดสอบทางผิวหนังโดยวิธีการสะกิด (Skin prick test) ซึ่งวิธีหลังจะให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีแรก แต่ต้องหยุดยาแก้แพ้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนตรวจ

วิธีป้องกันอาการแพ้ขนแมว

การไม่เลี้ยงแมวเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันการแพ้ขน แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็มีทางเลือกเพื่อลดอาการแพ้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเลี้ยงแมวในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องนอน
  • จัดบริเวณการขับถ่ายให้เป็นที่ และจัดเก็บอย่างถูกลักษณะ
  • ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสแมว
  • ถ้าในบ้านมีการปูพรม ควรนำพรมออก เพื่อลดการสะสมของสารก่อภูมิแพ้และขนแมว
  • ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอน ชนิดที่มี HEPA Filter
  • หมั่นล้างทำความสะอาดไส้กรองแอร์ และเปลี่ยนเมื่อถึงกำหนด
  • ดูดฝุ่นภายในบริเวณบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง รวมถึงของเล่นและที่นอนของเจ้าเหมียว และควรใช้หน้ากากปิดจมูกขณะปัดฝุ่น และทำความสะอาดด้วย
  • เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากหนังไม่ควรทำจากผ้า เพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด
  • อาบน้ำให้แมวอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และแปรงขนให้แมวทุกวัน เพื่อลดเศษขนและฝุ่นละอองที่สะสมไว้

สำหรับคนที่มีอาการรุนแรง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อใช้ยารักษาโพรงจมูก, หอบหืด, เยื่อบุตา หรือวัคซีนภูมิแพ้ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก

ทั้งนี้ก่อนที่จะเลี้ยงสัตว์อะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น หมา แมว นก หนู กระต่าย ควรศึกษาหาข้อมูลของสัตว์แต่ละประเภทให้ดี เพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ เหล่านั้นและมั่นใจได้ว่าจะเลี้ยงเขาให้ดีและมีความสุขได้ เพราะผู้เลี้ยงเองก็จะได้ความสุขจากการเลี้ยงด้วยเช่นกัน

SHARE