เป็นที่รู้กันดีแล้วว่า อาหาร และสุขภาพ มีความสัมพันธ์กันโดยตรง แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนและหลายครอบครัวต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ เพื่อปรับตัวไปตามสภาพสังคม ใช้วิธีการพึ่งพาอาหารนอกบ้านที่สะดวกกิน สะดวกซื้อ หรืออาหารจานด่วนกันมากขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านั้นอาจมีคุณค่าหรือสารอาหารที่ไม่เหมาะสม จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาวได้
ยิ่งกว่านั้นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยังช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับเราอย่างมากมาย ช่วยให้การดำเนินชีวิตในหลายกิจกรรมไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเยอะแยะ จนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุขภาพของเราแย่ลง เกิดโรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไต เบาหวาน จนอาจนำไปสู่โรคหัวใจเรื้อรังและรุนแรงได้
หันมาใส่ใจสุขภาพ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ตามหลักการดังนี้
- กินให้พอดีพออิ่มไม่มากเกินไป
- ครึ่งหนึ่งของจานข้าว ต้องเป็นผัก จะเป็นผักสดหรือผักสุกก็ได้
- ดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หลีกเลี่ยงขนม อาหารหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่จำเป็น
- เลือกกินแป้งไม่ขัดสีหรือกินธัญพืช อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของปริมาณแป้งที่ต้องกินในแต่ละวัน เช่น กินข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวแดง 2 มื้อ / วัน หรือกินขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังที่ใช้แป้งขัดขาว
- เลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังติดมัน เลือกอาหารที่ไม่ใช้การทอดแบบน้ำมันท่วม
- กินผลไม้ทุกวัน เน้นผลไม้สดแทนการดื่มน้ำผลไม้ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นน้ำผลไม้ที่ไม่มีน้ำตาล แต่กระบวนการทำต้องใช้ผลไม้ในปริมาณที่มาก จึงทำให้ปริมาณน้ำตาลสูงไปด้วย
- เลือกกินไขมันชนิดดี ซึ่งจะพบมากใน เมล็ดพืชอาโวคาโด หรือถั่วเปลือกแข็ง (ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ เป็นต้น) เลือกกินแทนขนมกรุบกรอบ ในปริมาณไม่เกิน 1 อุ้งมือ (ไม่เกิน 35 กรัม) เพราะถ้ามากไปจะทำให้ได้รับแคลอรี่มากเกินไป
- ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การวางแผนเรื่องอาหารการกิน อาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ถ้าทำได้ดี จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเราในระยะยาว โดยแนะนำให้ใช้เทคนิคการกำหนดเมนูอาหารต่อสัปดาห์ และตระเตรียมวัตถุดิบให้พร้อม เมื่อทำบ่อยๆจนเกิดเคยชิน ก็จะพบว่าไม่ได้ยุ่งยากมากนัก แต่สำหรับผู้ที่ไม่ชอบทำอาหาร อาจต้องเพิ่มความใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกสั่งอาหารให้มีผักและปลามากขึ้น เตรียมของว่างที่มีประโยชน์ เช่น นม นมถั่วเหลือง ถั่ว กล้วย แอปเปิ้ล ไข่ต้ม หรือทำแซนวิชเอง
นอกจากอาหารแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเป็นผุ้มีสุขภาพจิตดี ไม่เคร่งเครียด ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ จะช่วยให้สุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจของเราแข็งแรงขึ้น
** ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ภัยร้ายที่น่ากลัว
โดย … เริ่มที่ตัวเราเองวันนี้ “กินดี+ออกกำลังกายดี+อารมณ์ดี” **
ปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ ศูนยหัวใจ สาขาใกล้บ้านคุณ